วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับวิธีการจัดแบ่งดังนี้

แบ่งตามเขตพื้นที่ 
เป็นการแบ่งตามสถานที่ที่ปรากฏเพลง อาจแบ่งกว้างที่สุดเป็นภาค เช่น เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน เพลงพื้นบ้านภาคใต้ หรืออาจแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นเขตจังหวัด อำเภอ ตำบล เช่น เพลงพื้นบ้านตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เพลงพื้นบ้านของอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี 
แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรมของผู้เป็นเจ้าของเพลง 
เป็นการแบ่งตามกลุ่มชนท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรม หรือเชื้อชาติต่างกัน เช่น เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว เพลงพื้นบ้านกลุ่มไทยมุสลิม
แบ่งตามโอกาสที่ร้อง 
กลุ่มหนึ่งเป็นเพลงที่ร้องตามฤดูกาลหรือเทศกาล เช่น เพลงที่ร้องในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงนา และเพลงที่ร้องในเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ เพลงบอก เพลงร่อยพรรษา เพลงตร๊จ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นเพลงที่ร้องได้ทั่วไปไม่จำกัดโอกาส เช่น ซอ หมอลำ เพลงโคราช เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว

แบ่งตามจุดประสงค์ในการร้อง 
เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก เพลงปฏิพากย์ เพลงร้องรำพัน เพลงประกอบการละเล่นของผู้ใหญ่ และเพลงประกอบพิธีกรรม

แบ่งตามจำนวนผู้ร้อง 
เป็นเพลงร้องเดี่ยวและเพลงร้องหมู่ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงพาดควาย จ๊อย เป็นเพลงร้องเดี่ยว ส่วนเพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เป็นเพลงร้องหมู่ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งประเภทเพลงพื้นบ้านแบบอื่นๆ เช่น ตามความสั้นยาวของเพลง แบ่งตามเพศของผู้ร้อง แบ่งตามวัยของผู้ร้อง ในที่นี้ขอกล่าวถึงเพลงพื้นบ้าน โดยแบ่งตามเขตพื้นที่เป็นภาค ๔ ภาค คือ

๑.     เพลงพื้นบ้านภาคกลาง
๒.    เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ
๓.    เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน
๔.    เพลงพื้นบ้านภาคใต้

เพลงพื้นบ้านภาคกลาง

เพลงพื้นบ้านภาคกลางส่วนใหญ่เป็นเพลงโต้ตอบหรือเพลงปฏิพากย์ เป็นเพลงที่หนุ่มสาวใช้ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน มักร้องกันเป็นกลุ่มหรือเป็นวง ประกอบด้วย ผู้ร้องนำเพลงฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่เรียกว่า พ่อเพลง แม่เพลง ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับ ให้จังหวะด้วยการปรบมือ หรือใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ เช่น กรับ  ฉิ่ง เพลงโต้ตอบนี้ ชาวบ้านภาคกลางนำมาร้องเล่นในโอกาสต่างๆ ตามเทศกาล หรือในเวลาที่มารวมกลุ่มกัน เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางเพลงก็ใช้ร้องเล่นไม่จำกัดเทศกาล แบ่งได้ ๕ กลุ่ม คือ

๑. เพลงที่นิยมร้องเล่นในฤดูน้ำหลาก เทศกาลกฐินและผ้าป่า ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ได้แก่
  • เพลงเรือ (ร้องกันทั่วไปในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี)
  • เพลงครึ่งท่อน เพลงไก่ป่า (ปรากฏชื่อในหนังสือเก่าก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าร้องอยู่แถบพระนครศรีอยุธยา)
  • เพลงหน้าใย เพลงยิ้มใย เพลงโซ้ (นครนายก)
  • เพลงรำพาข้าวสาร (ปทุมธานี)
  • เพลงร่อยภาษา (กาญจนบุรี)
๒. เพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลเก็บเกี่ยว เป็นเพลงที่ร้องเล่นในเวลาลงแขกเกี่ยวข้าว และนวดข้าว ได้แก่
  • เพลงเกี่ยวข้าว เพลงก้ม (อ่างทอง สุพรรณบุรี)
  • เพลงเต้นกำ (อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา)
  • เพลงเต้นกำรำเคียว (นครสวรรค์)
  • เพลงจาก (อ. พนมทวน กาญจนบุรี)
  • เพลงสงฟาง (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี)
  • เพลงพานฟาง (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี)
  • เพลงสงคอลำพวน (กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี)
  • เพลงชักกระดาน (กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สิงห์บุรี อ่างทอง)
  • เพลงโอก (ราชบุรี ใช้ร้องเล่นเวลาหยุดพักระหว่างนวดข้าว)
๓. เพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ เป็นเพลงที่ร้องเพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง และบางเพลงเป็นเพลงที่ใช้ประกอบการละเล่นของหนุ่มสาว ได้แก่
  • เพลงพิษฐาน (พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก)
  • เพลงพวงมาลัย (นครปฐม เพชรบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง นครสวรรค์)
  • เพลงระบำ เพลงระบำบ้านไร่ (พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี)
  • เพลงฮินเลเล (พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก)
  • เพลงคล้องช้าง (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม)
  • เพลงช้าเจ้าหงส์ (พระนครศรีอยุธยา)
  • เพลงช้าเจ้าโลม (นครสวรรค์ อุทัยธานี)
  • เพลงเหย่อย (กาญจนบุรี)
  • เพลงกรุ่น (อุทัยธานี  พิษณุโลก)
  • เพลงชักเย่อ (อุทัยธานี)
  • เพลงเข้าผี (เกือบทุกจังหวัดของภาคกลาง)
  • เพลงสังกรานต์ (เป็นเพลงใช้ร้องยั่วประกอบท่ารำ ไม่มีชื่อเรียกโดยตรง ในที่นี้ เรียกตามคำของยายทองหล่อ ทำเลทอง แม่เพลงอาวุโสชาวอยุธยา)
๔. เพลงที่ใช้ร้องเวลามารวมกันทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง ได้แก่
  • เพลงโขลกแป้ง (ร้องโต้ตอบกันเวลาลงแขกโขลกแป้งทำขนมจีน ในงานทำบุญ ของชาวอ่างทอง ชาวนครสวรรค์)
  • เพลงแห่นาคหรือสั่งนาค (ร้องกันทั่วไปในภาคกลาง ในงานบวชนาคขณะแห่นาคไปวัดหรือรับไปทำขวัญนาค)
๕. เพลงที่ร้องเล่นไม่จำกัดเทศกาล เป็นเพลงที่ร้องเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงในงานบุญประเพณีต่างๆ ร้องรำพันแสดงอารมณ์ความรู้สึก ร้องประกอบการละเล่น หรือร้องโดยที่มีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
  • เพลงเทพทอง (เป็นเพลงพื้นบ้านที่เก่าที่สุด ตามหลักฐานในวรรณคดีและหนังสือเก่าบันทึกไว้ว่า นิยมเล่นตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึง รัชกาลที่ ๖)
  • เพลงลำตัด
  • เพลงโนเนโนนาด
  • เพลงแอ่วเคล้าซอ
  • เพลงแห่เจ้าบ่าว
  • เพลงพาดควาย
  • เพลงปรบไก่
  • เพลงขอทาน
  • เพลงฉ่อย (มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เพลงวง เพลงเป๋ เพลงฉ่า เพลงตะขาบ)
  • เพลงทรงเครื่อง
  • เพลงระบำบ้านนา
  • เพลงอีแซว
  • เพลงรำโทน
  • เพลงสำหรับเด็ก (เพลงกล่อมเด็ก  เพลงปลอบเด็ก  เพลงประกอบการละเล่นเด็ก)





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น